26 กุมภาพันธ์ 2555

วัดมหาธาตุวรวิหาร

วัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สร้างตั้งแต่สมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ถนนเขางู ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองราชบุรี ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง เดิมเรียกว่า “วัดหน้าพระธาตุ” “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” มีพระปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงสูง 12 วา ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่พระปรางค์ เป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ประวัติ วัดมหาธาตุวรวิหาร
แรกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 18 วัฒนธรรมเขมรจากราชอาณาจักรกัมพูชาได้แพร่เข้าสู่ดินแดนราชบุรี จึงได้มีการก่อสร้างและดัดแปลงศาสนสถานกลางเมืองราชบุรีขึ้นเป็นพระปรางค์ และสร้างกำแพงศิลาแลงล้อมรอบเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเมืองตามคติความเชื่อ เรื่องภูมิจักรวาลของเขมร ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 ได้มีการก่อสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาขึ้งซ้อนทับและสร้างพระปรางค์บริวารขึ้น อีก 3 องค์บนฐานเดียวกัน
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรกเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองราชบุรีจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออก ประชาชนก็ย้ายตามความเจริญไปด้วย วัดมหาธาตุจึงกลายเป็นวัดร้างไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2338 พระภิกษุองค์หนึ่งชื่อพระบุญมา ได้ธุดงค์มาเห็นวัดนี้มีสถานที่ร่มรื่น เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมจึงได้ขอความร่วมมือจากพุทธศาสนิกชนช่วยกันปัด กวาดซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ ในที่สุด วัดมหาธาตุจึงกลับมาเป็นศูนย์กลางของศาสนาเช่นเดิม และยังคงเป็นมาจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลท่องเที่ยว วัดมหาธาตุวรวิหาร
ชื่อ : วัดมหาธาตุวรวิหาร
ประเภท : สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
ที่อยู่ : บันไดอิฐ คลองกระแซง ซอย 2 ถ.เขางู ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี
GPS : 13.546784 ,  99.813822
เิปิดเข้าชม : 07.00-18.00 น. (ทุกวัน)
ค่าเข้าชม : ฟรี
สถานที่จอดรถ : กว้างขวาง
ร้านอาหาร : สะดวกสบาย เพราะอยู่กลางเมืองราชบุรี
TIP :
  • การเที่ยวโบราณสถาน วัดมหาธาตุวรวิหาร ควรศึกษาอ่านประวัติความเป็นมาด้านล่างก่อน เพื่อจะได้ความรู้ และสนุกยิ่งขึ้น
  • งานประจำปี งานสมโภชมหาธาตุวรวิหาร ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี ประกอบด้วย มหรสพ ประกวดกล้วยไม้ ฯลฯ

ประวัติศาสตร์
วัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี

เมืองราชบุรี
เมือง ราชบุีรี  เดิมเรียกเมืองชยราชบุรี  เป็นเมืองประเภทหัวเมือง ตั้งมาแต่สมัยทวารวดี  เดิมตั้งอยู่ที่  ตำบลคูบัว  อำเภอเมืองราชบุรี  ต่อมา  เมื่อเส้นทางสัญจรทางน้ำ ตื้นเขิน จึงย้ายมาลง  ณ ตำแหน่งที่เป็นวัดมหาธาตุวรวิหารปัจจุบัน  เมืองชยราชบุรีเดิม  คูเมืองตื้นเขิน มีบัวขึ้นเป็นส่วนใหญ่  จึงเรียกคูบัว  ตั้งอยู่ตำแหน่งใหม่นี้ปลายทวารวดี  ตลอดสมัยเขมรยุคต้น  เขมรยุคปลาย  สุโขทัย อยุธยา  จนถึงต้นรัตนโกสินทร์  ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ ๒  จึงย้ายเมืองไปอยู่ ณ ฝั่งตรงกันข้าม  ที่เป็นค่ายภาณุรังษีปัจจุบัน  ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์  ถึงรัชกาลที่ ๕  ทรงตัดทางรถไฟผ่านกลางใจเมือง  จึงได้โปรดให้ย้ายกลับมาอยู่  แม่กลองฝั่งขวา  ที่เป็นตลาด ปัจจุบัน
พระปรางค์ประธาน
(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
พระปรางค์ประธาน  เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และได้รับการซ่อมแซมเพิ่มเติม ในสมัยอยุธยาตอนต้น ตรงส่วนที่เป็นซุ้มด้านตะวันออก และภาพจิตรกรรมภายใน ประกอบด้วยพระปรางค์ประธาน และพระปรางค์บริวาร ๓ องค์บนฐานเดียวกัน มีการตกแต่งองค์พระปรางค์ทั้งหมดด้วยลวดลายปูนปั้นอย่างงดงาม ด้านตะวันออกของพระปรางค์มีบันไดทางขึ้น และมีมุขยื่น ภายในคูหาเชื่อมต่อกับพระปรางค์ ผนังภายในองค์พระปรางค์ทุกด้านมีภาพจิตรกรรมรูปอดีตพระพุทธเจ้า
หลักฐานเรื่องนี้
๑. สมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ฤดูร้อนเสด็จออกรับลมนอกพระตำหนักทอดพระเนรตรเห็นแสงพวยพุ้งขึ้นจากแผ่นดิน จึงให้ราชบริพารเอาไม้ไปปักไว้ รุ่งเช้าจึงโปรดให้ขุด ได้พบพระบรมสารีริกธาตุ จึงโปรดให้สถาปนาวัดขึ้น ณ ตำแหน่งนั้น ชื่อ วัดมหาธาตุ
๒. ประมาณ พ.ศ.๒๕๑๐ ได้มีการขุดที่ฐานเจดีย์ ซ้าย-ขวา หน้าปรางค์ประธาน ได้พบพระบรมสารีริกธาตุฝังอยู่ใต้ฐานเจดีย์ จึงตกลงใจว่า การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุคือการฝัง แล้วก่อเจดีย์ทับเจดีย์ก็คือเครื่องหมายแสดงให้ทราบว่า ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วัดมหาธาตุ จึงได้ชื่อว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
พระอาทิมงคล(ภาพ : http://watmahatart.com)
พระอาทิมงคล    พระครูปลัดทอง จนฺทสุวณฺโณ เป็นชาวท่าแจ่เล่าให้ พระมหาไพบูลย์ (เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน) ฟังว่า พระอาทิมงคลนี้ เดิมประดิษฐานอยู่ในคูหาปรางค์ประธาน ต่อมาเศียรถูกโจรกรรมไป ทางราชการไปจับได้ที่ท่าเรืองคลองเตย ในขณะที่จะส่งอออกนอกประเทศ และเศียรนั้นทางราชการได้ยึดเข้าพิพิธภัณฑ์ ต่อมาจึงได้ย้ายองค์ที่ปราศจากเศียรไปไว้ หลังพระรำพึงในระเบียงคต ต่อมาได้ถูกย้ายไปไว้ที่มุมระเบียงคตทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งด้านในและด้านนอกระเบียงตามลำดับ ปัจจุบันได้บูรณะและประดิษฐานอยู่บนฐานเจดีย์เก่าด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของปรางค์ประธาน สันนิษฐานว่า เมื่อย้ายเมืองชยราชบุรีจากคูบัวมาลง ณ ตำแหน่ง วัดมหาธาตุวรวิหาร ได้สร้างวิหารประดิษฐานพระอาทิมงคล ณ ตำแหน่งที่เป็นวิหารหลวงปัจจุบัน ตามคติของคนโบราณ เมื่อสร้างบ้านสร้างเมืองที่ไหน ก็จะสร้างสิ่งเคารพไว้ประจำเมือง เป็นพุทธสถานบ้าง เป็นเทวสถานบ้าง ตามความเชื่อของตน หมายเหตุ หลักฐานอ้างอิง ได้จากหนังสือเที่ยวเมืองโบราณบางปู
พระชัยพุทธมหานาค(ภาพ : http://watmahatart.com)
พระชัยพุทธมหานาค  (หลวงพ่อพันปี) ประมาณย้อนหลังไป ๑๐ ปี แต่ พ.ศ.๒๕๕๐ ได้มีนายทหารท่านหนึ่งยศนายพัน แจ้งให้ทราบว่า ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสระแก้ว และรับราชการอยู่ ณ ที่ภูมิลำเนาเดิมตลอดมา และยังมีหน้าที่เกี่ยวกับมัคคุเทศก์ในจังหวัดอีกตำแหน่งหนึ่ง เขามาขอชมพระชัยพุทธ-มหานาค ทางเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันก็ตอบไปว่าไม่มี เขาก็บรรยายพระพุทธลักษณะให้ฟัง ก็บอกเขาว่า มีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เข้าลักษณะตามที่บรรยายเมื่อได้ชมแล้วก็บอกว่า องค์นี้แหละคือพระชัยพุทธมหานาค (แต่นายทหารท่านนั้น เรียกพระพุทธชัยมหานาค) นายทหารท่านนั้นบรรยายให้ฟังต่อไปว่า พระชัยพุทธมหานาคนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างทั้งหมด ๒๓ องค์ ประดิษฐานตามปรางค์เขมรต่างๆ แทนเทวรูปปรางค์เดิม เป็นปรางค์หิน ศิลปะเขมรตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งที่เป็นวิหารหลวงปัจจุบัน ลักษณะพระชัยพุทธมหานาค เป็นพระปรางค์นาคปรก สะดุ้งมาร สร้างด้วยหินทรายสีขาว ศิลปะเขมร จะผิดกับพระนาคปรกทั่วๆ ไปซึ่งเป็นปรางสมาธิ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในคูหาปรางค์ประธาน
ระเบียงคต
(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
ระเบียงคต  เป็นอาคารเก็บพระพุทธรูป โดยที่วัดมหาธาตุ เป็นอารามสำคัญประจำเมือง เมื่อเมืองราชบุรีย้ายข้ามฝั่งไป วัดต่างๆ จึงร้างโดยมากและร้างตลอดไปเว้นวัดมหาธาตุวรวิหารจะมีผู้บูรณะขึ้นใหม่ ในขณะเดียวกันก็รวบรวมพระพุทธรูปจากวัดร้างต่างๆ มาเก็บไว้ ณ วัดมหาธาตุ ฉะนั้น พระพุทธรูปในระเบียงคต จึงหลากหลายศิลปะ มีทั้งศิลปะทวารวดี เขมร อยุธยา และรัตนโกสินทร์

พระวิหารหลวง(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
พระมงคลบุรี พระศรีนัคร์ ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
พระวิหารหลวง  อยู่ด้านหน้าพระปรางค์ ภายนอกระเบียงคด เป็นซากอาคารในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาว 9 ห้อง  ฐานล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้ามุขยื่น บนพระวิหารเคยมีเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่แต่หักพังหมดแล้ว บนฐานพระวิหารมีอาคารไม้โล่งสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ภายในอาคารพระวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นแกนหินทรายขนาดใหญ่ ปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่สององค์  เรียก พระมงคลบุรี พระศรีนัคร์ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน เป็นพุทธศิลปแบบอยุธยาตอนต้นก็เรียก อู่ทองยุคหลังก็เรียก อู่ทองหน้าหนุ่มก็เรียก หันหลังให้กัน นอกจากเป็นที่สักการะประจำเมืองแล้ว  ยังขออาราธนา ให้ช่วยระวังหน้าระวังหลัง ตามความเชื่อของคนในสมัยนั้น ด้านข้างทั้งสอง และด้านหน้าพระวิหาร ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีวิหารขนาดเล็กภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดงปางมารวิชัย ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน คล้ายกับที่ในพระวิหารหลวง
วิหารราย
(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
วิหารราย ตั้งอยู่หน้าปรางค์ นอกระเบียงคน มี ๔ หลัง เป็นที่เก็บพระพุทธรูปประธานประจำโบสถ์ร้างเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นบ้าง เป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยศิลาบ้าง ศิลปะอยุธยา สันนิษฐานว่า นำมาจากโบสถ์ร้าง วัดอุทัย วัดท่าพระทอง วัดโพธิ์เขียว และวัดตารอด วัดร้าง
แท่นถือน้ำสาบาน
(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
แท่นถือน้ำสาบาน เป็นแท่นตั้งเครื่องสังเวยในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ( น้ำสาบาน ) ประจำเมือง เป็นแท่นรูปยาวตาม ( แท่นบูชาจะยาวขวาง แท่นตั้งเครื่องสังเวยจะยาวตาม ) ตั้งอยู่ตรงประตูโคปุระด้านใน หน้าวิหารหลวงออกไป ระหว่างวิหารรายทั้ง ๒ แท่นนี้บูรณะขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ( พ.ศ. ๒๕๕๒ )
กำแพงแก้ว
(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
กำแพงแก้ว  ก่อด้วยศิลาแลงรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบองค์พระปรางค์ไว้ทั้งสี่ด้าน เหนือกำแพงมีใบเสมาทำด้วยหินทรายสีชมพู จำหลักพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว ลักษณะพุทธศิลปะขอมแบบบายน (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘) ได้ขุดพบฐานปรางค์ศิลาแลงย่อมุมขนาดย่อม และพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมส่วนยอดของพระปรางค์ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นคราวเดียวกับกำแพงแก้ว
ชิ้นส่วนจำหลักจากหิน
(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
ราวบันไดรูปครุฑยุดนาค  พบจำนวน ๒ ชิ้น จำหลักจากหินทรายสีแดง ตั้งอยู่ที่ทางเข้าภายในระเบียงคดด้านทิศตะวันออก อยู่ในสภาพชำรุดลบเลือน เป็นศิลปะขอมแบบบายน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘
พระอุโบสถ
(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
พระอุโบสถ  จากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่า สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลด ๒ ชั้น ๓ ตับ เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้าและหลังทำพาไลยื่นมารองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูน ๓ ต้น ด้านข้างมีชายคาปีกนกโดยรอบ ฐานอาคารมีศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย คือแอ่นโค้งคล้ายเรือสำเภา หรือที่เรียกว่าแอ่นท้องช้าง ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นปูนประดับกระจกเป็นซุ้มหน้านาง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งบนดอกบัว ด้านนอกโดยรอบมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ
มณฑป
(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
มณฑป เดิมด้านซ้ายของปรางค์ (ที่จำพรรษาของพระสงฆ์ปัจจุบัน) เป็นอีกวัดหนึ่ง เรียกวัดหน้าพระธาตุเพราะผู้ที่จะเดินทางมานมัสการพระมหาธาตุ ทางหนึ่ง จะต้องมาขึ้นเรือ ( มิใช่ลงเรือ ) ที่ท่าวัดนี้ เป็นวัดคู่กับวัดลั่นทม (สำนักประชุมนารีปัจจุบัน) ๒ วันนี้ มีหน้าที่ดูแลพระมหาธาตุ หลักฐานเรื่องนี้ได้จากองค์พระปฐมเจดีย์ และพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จะมีวัดอยู่ ๔ วัด รอบองค์พระปฐมเจดีย์ และพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จะมีวัดอยู่ ๔ วัด รอบองค์พระปฐมเจดีย์และพระบรมธาตุ มีหน้าที่ดูแลพระปฐมเจดีย์และพระบรมธาตุ ด้านหน้าของพระอุโบสถวัดหน้าพระธาตุ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) นอกกำแพงแก้ว เยื้องไปทางขวามือ มีมณฑป ๑ หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท (มิใช้รอยพระพุทธบาท รอยพระพุทธบาทคือรอยเท้าของพระพุทธเจ้าที่ประทับไว้ส่วนพระพุทธบาทคือรูป เท้าของพระพุทธเจ้า ) สร้างด้วยหินทรายสีชมพู ศิลปะอยุธยา

พระเจดีย์
(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
พระเจดีย์  เป็นเจดีย์เรียงรายเป็นแถวอยู่ด้านหน้าพระมณฑป จำนวน ๕ องค์ เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังกลมจำนวน ๔ องค์ และพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอีก ๑ องค์ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์
หอสวดมนต์ เป็นเรือนไม้ ยาว ๕ ห้อง มีระเบียงหน้า ภายในกั้นห้องไว้หนึ่งห้องลักษณะคล้ายห้องนอนของบ้านเรืองทั่วไป ซึ่งตรงกับที่พระครูปลัดทอง เล่าให้ พระมหาไพบูลย์ฟังว่า อาคารหลังนี้ เป็นเรือนของคุณหลวง (ไม่ทราบชื่อ) อยู่ทางบ้านไร่ ถวายมา แล้วหลวงพ่อตั๋นได้มาดัดแปลงเป็นหอสวยมนต์ คู่กับหอสวดมนต์เก่า หรือกุฏิเจ้าอาวาสเก่า ปัจจุบันได้ขยายแยกออกจากกันแล้วใส่ชานกลางเป็นกุฏิเจ้าอาวาส
อู่เรือ
อู่เรือ มี ๒ แห่ง คือ ที่ท้ายหอสวดมนต์ ของวัดหน้าพระธาตุ ๑ แห่ง ที่ท้ายโบสถ์วัดลั่นทม ( วิหารสำนักประชุมนารีปัจจุบัน) ๑ แห่ง ซึ่งในกาลต่อมา เรียกว่าสระ อู่เรือใช้เป็นที่เทียบเรือ เสมือนลานจอดรถในปัจจุบัน สำหรับผู้เข้ามาวัด ฉะนั้น ริมอู่เรือ จะมีศาลาท่าน้ำขนาดใหญ่ เพื่อผู้ที่เดินทางมาใช้เป็นที่แต่งตัวบ้าง พระสงฆ์ใช้เป็นที่ขึ้นเรือบ้าง (เอาเรือขึ้น) ปัจจุบัน ศาลาท่าน้ำของวัดหน้าพระธาตุ รื้อไปหมดแล้ว ส่วนของวัดลั่นทมมาไม่ทัน
บ่อปั้นอิฐ
บ่อปั้นอิฐ คือ บ่อที่ขุดดิน เอามาปั้นอิฐ เพื่อสร้างศาสนสถานที่ใหญ่ๆ เช่นโบสถ์ สมัยก่อนไม่มีการผลิตอิฐจำหน่าย ฉะนั้น เมื่อจะสร้างศาสนสถานที่ใหญ่ เช่น โบสถ์แล้ว ก็จะขุดดินข้างโบสถ์นั้น เอามาปั้นและเผาในที่นั้น เพื่อตัดปัญหาการขนย้าย ต่อมา บ่อนั้นจะนิยมเรียกว่า สระ เช่นโบสถ์วัดหน้าพระธาตุ มีบ่ออยู่ด้านขวา (ปัจจุบันถมแล้ว) โบสถ์วัดลั่นทม มีบ่ออยู่ด้านขวา ปัจจุบันเป็นสระน้ำ โบสถ์วัดบ้านกล้วย มีบ่ออยู่ด้านซ้าย ปัจจุบันถมแล้ว โดยเฉพาะโบสถ์วัดบ้านกล้วย (หลังที่ ๒ ) มีพยานบุคคล คือ โยมป้าม้วน จุลศีรี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
โพธิ์เงินโพธิ์ทอง โพธิ์ที่สำคัญ จะนิยมปลูกในบริเวณปูชนียสถาน โพธิ์ที่ได้ชื่อว่า โพธิรุกขัง เจติยัง จะนิยมปลูกไว้ท้ายโบสถ์ เพราะถือว่า เป็นเจดีย์ชนิดหนึ่ง เมื่อพระทำวัตรสวดมนต์ในโบสถ์ ได้ชื่อว่า สักการบูชาต้นโพธิ์ด้วยวัดมหาธาตุวรวิหาร มีโพธิ์สำคัญอยู่ ๒ ต้น คือ หน้าโบสถ์ ๑ ต้น เป็นโพธิ์เงิน ข้างมณฑป ๑ ต้นเป็นโพธิ์ทอง รู้ได้โดยเมื่อโพธิ์แตกใบอ่อน โพธิ์เงินใบอ่อนจะเป็นสีขาว โพธิ์ทองใบอ่อนจะเป็นสีแดง
เจดีย์ท่าน้ำ(ถ่ายเมื่อ 22/09/2555)
เจดีย์ท่าน้ำ แม่น้ำกลองตอนเหนือเมืองราชบุรีขึ้นไป หน้าแล้ง น้ำน้อย ตลิ่งจะสูง และปกคลุมด้วยวัชพืช (มีไว้เพื่อป้องกันตลิ่งพัง) ผู้ที่สัญจรทางเรือ โดยเฉพาะคนต่างถิ่น จะมองไปเห็นวัด เขาจึงนิยมสร้างเจดีย์ไว้ที่ท่าวัด เพื่อเป็นที่สังเกต  แต่ตอนนี้อยู่ห่างจากฝั่งมาก เพราะทางน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะวัดที่สำคัญปัจจุบันเหลืออยู่ ๓ วัด คือ ๑.วัดมหาธาตุ-วรวิหาร (อยู่ข้างศาลแป๊ะกง) ๒. วัดช่องลม อยู่ข้างโรงสูบน้ำ ๓. วัดโพธิ์เขียวท่าแจ่
ถนนอยุธยา
ถนนอยุธยา อยู่ต่อจากเจดีย์ท่าน้ำ เป็นถนนขึ้นจากท่าน้ำเข้าสู่พระมหาธาตุปัจจุบันบูรณะให้เห็นได้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือรั้วของโรงเรียนเทศบาล ๔ สร้างทับ
ศาลามุ้ง
ศาลามุ้ง พระครูปลัดทอง เล่าให้พระมหาไพบูลย์ฟังว่า บริเวณท่าน้ำนั้น จะมีศาลา 1 หลัง ใช้เป็นที่ขึ้นเรือและลงเรือ (คงใช้เป็นที่หลักยอยบ้างบางโอกาส) ในศาลานั้นไม่มียุง เพราะใต้ถุนศาลาฝังแร่ชนิดหนึ่งไว้ ยุงจะไม่เข้าใกล้ ภายหลังลายแทงได้ไปปรากฏ แก่ชาวอยุธยาท่านหนึ่ง แล้วชาวอยุธยาท่านนั้นได้มาขุดเอาไป เหตุนั้นจึงเรียก ศาลามุ้ง
คนอยุธยาสร้างวัดมหาธาตุ โบราณสถานก็ดี โบราณวัตถุก็ดี ในเมืองราชบุรี ทั้งชั้นนอก ชั้นใน เต็มไปด้วยศิลปะของอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ จึงลงสันนิฐานได้ว่าโบราณสถานก็ดี โบราณวัตถุก็ดี ใช้ช่างอยุธยาเป็นผู้สร้าง ด้วยเหตุผล
๑. เจ้าเมืองราชบุรีไปช่วยราชการสงครามบ้าง ไปถวายบรรณาการประจำปีบ้าง เห็นความสวยงามของเมืองหลวงอยุธยา จึงนำช่างอยุธยามาสร้างเมืองของตนบ้าง
๒. ลายแทงที่วัดมหาธาตุวรวิหาร (ตามที่พระครูปลัดทอง เล่าให้พระมหาไพบูลย์ฟัง) ไปปรากฏแก่ชาวอยุธยาถึง ๓ แห่ง คือ ๑. ศาลามุ้ง ๒. ที่ฐานพระปรางค์ ๓. ที่ลายปูนปั้นรูปราหูอมจันทร์ที่หน้าบันพระปรางค์
พระประจำเมือง
พระประจำเมือง ยุคทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่นครปฐมได้สร้างพระพุทธรูปหิน ห้อยพระบาทปางปฐมเทศนา ประดิษฐานไว้ ๔ มุมเมือง เรียกพระประจำเมือง ปัจจุบันทางราชการ ได้รวบรวมชิ้นส่วนที่กระจัดกระจาย มาบูรณะขึ้นให้เต็มองค์ประดิษฐานอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ พระนคร ๑ องค์ ประดิษฐานอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑ องค์ ประดิษฐานอยู่ ณ พระปฐมเจดีย์ ๒ องค์ สำหรับเมืองราชบุรี ก็สร้างประดิษฐาน ณ วิหารทวารวดีเป็นพระประจำเมือง ๑ องค์ เรียกพระอาทิมงคล เป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยหินชนวนประทับยืน ปางประทานพร ยุคเขมร พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้สร้างพระพุทธรูปนาคปรก ปางสดุ้งมาร ด้วยหินทรายสีขาวไว้ประจำปรางค์ ( ปราสาท) เรียกพระชัยพุทธมหานาค ยุคอยุธยา สร้างพุทธรูปปูนปั้นไว้ประจำวิหารหลวง ปางสดุ้งมารศิลปะอยุธยายุคต้น ก็เรียก อู่ทองยุคหลัง ก็เรียก อู่ทองหน้าหนุ่มก็เรียก ๒ องค์ หันหลังให้กัน ในความหมาย นอกจากเป็นที่สักการะประจำเมืองแล้วยังขออาราธนาให้ช่วยระวังหน้าระวังหลัง ด้วย ตามความเชื่อของคนยุคนั้นองค์หน้า เรียกว่า พระมงคลบุรี องค์หลัง เรียกพระศรีนัคร์
ความสำคัญ
  • มวลสารวัตถุจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุในที่นี้ รัชกาลที่ ๙ ได้นำมาเป็นส่วนประกอบในการทำพระสมเด็จจิตรลดา
  • ตั้งแต่ พ.ศ. 1800 – ปัจจุบัน เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุในที่นี้ดำรงมั่นคงสืบต่อยาวนานนับเป็นเวลา 700กว่าปี
  • เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
  • ใช้เป็นที่ประกอบพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดราชบุรี
อ้างอิง
  • ว่าที่ ร้อยตรี นันทเดช โชคถาวร หนังสือพระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์ครั้งที่ 11
  • ว่าที่ ร้อยตรี นันทเดช โชคถาวร หนังสือพระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์ครั้งที่ 6
  • http://heritage.mod.go.th/nation/oldcity/ratchaburi5.htm
  • http://watmahatart.com
  • พระเทพวิสุทธาภรณ์. (24 ส.ค. 2550). สังเขปประวัติวัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี
สถานที่ท่องเที่ยว :